| กนกนุช แจงเหตุตัดงบเครื่องวัดแผ่นดินไหว
กนกนุช แจงเหตุตัดงบเครื่องวัดแผ่นดินไหว ยันทำตามหน้าที่ ชี้ โครงการไม่ชัดเจน เกรงไม่เกิดประโยชน์
เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายญัตติด่วนเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการตรวจสอบเกี่ยวกับตึกสูงและความปลอดภัย โดยนางกนกนุช ระบุว่าประชาชนหลายคนเข้าใจผิด ทำคลิปเผยแพร่ใน TikTok และ Facebook โดยความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่เป็น ส.ก.เป็นตัวแทนของประชาชนชาวดอนเมือง ประเด็นสำคัญในการพิจารณางบประมาณ พิจารณาเพื่อความปลอดภัย เพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เราให้ความสำคัญกับปัญหาแผ่นดินไหว ตนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หลายคนพูดถึงโครงการจ้างที่ปรึกษา ประเมินกำลังต้านทานแผ่นดินไหวในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร คลิปที่มีการเผยแพร่สร้างความเสียหายให้กับสภากรุงเทพมหานคร วันนั้นตนเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่รายงานทุกโครงการที่ผ่าน และไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณา โดยทุกงานทุกโครงการจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการวิสามัญของกรุงเทพมหานคร
โครงการดังกล่าว เมื่อคณะอนุกรรมการวิสามัญโยธาพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเรื่องรายงานสู่คณะกรรมการวิสามัญ ในคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้บริหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส.ก.ที่มีหลายสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสังกัดอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย
ตนเป็นประธานกรรมการวิสามัญมีหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นตามระเบียบ พร้อมกับรายงานสู่สภาฯ ในระยะเวลาที่กำหนด คณะอนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและ TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร คณะกรรมการจึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์
นางกนกนุช โชว์เอกสารหลักการและเหตุผลในการขอใช้งบประมาณวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่พูดอย่างเดียวว่า จะจ้างที่ปรึกษา และลักษณะงานก็เป็นการจ้างที่ปรึกษาอีกเช่นกัน ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีแต่เรื่องรายงาน ขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นงบบุคลากรราว 3.5 ล้านบาท หรือเกือบ 40% ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้านบาท ค่าจัดทำรายงานประมาณ 7 หมื่นบาท
โครงการนี้หากมีการปรับปรุงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของผลลัพธ์ที่ชัดเจน ส.ก.พร้อมที่จะให้ความเห็นชอบ แต่ตัวเครื่องที่จะใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เป็นเครื่องที่ไม่มีขาย ต้องประดิษฐ์ขึ้นมา การติดตั้งเครื่องต้องติดในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่การแจ้งเตือนว่าอีก 3 นาที 5 นาที แผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือน หากมีแผ่นดินไหวทุกคนต้องอพยพอยู่แล้ว ไม่มีว่าแผ่นดินไหวแล้วทุกคนอยู่กับที่ ขอไปดูเครื่องนี้ก่อนว่าจะถล่มหรือไม่ เวลาเราพิจารณางบประมาณ เราพิจารณาตามเอกสารที่ส่งมา มันไม่ใช่เครื่องแจ้งเตือน แต่เป็นเครื่องที่ไว้วัดการสั่นสะเทือน
หากจะเสนอให้สภาฯ พิจารณาใช้งบประมาณในการป้องกันภัยแบบนี้ เชื่อว่าสภาฯ จะผ่านให้แน่นอน แต่ควรเป็นโครงการป้องกันและบรรเทาแผ่นดินไหวที่ครอบคลุมในหลายมิติ ควรถูกบังคับใช้ในวงกว้างมากกว่า การพิจารณางบประมาณเรานึกถึงความปลอดภัยของประชาชน เช่น โครงการติดตั้งไฟแสงสว่าง ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอเสนอใช้งบประมาณเยอะมาก เราเห็นด้วย แล้วก็ผ่านให้ในทุกโครงการที่เป็นความปลอดภัย รวมถึงการสร้างโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่เงินที่เราใช้มาจากภาษีของประชาชน การใช้ภาษีจะต้องเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ โปร่งใส
นางกนกนุช ย้ำว่าวันนั้นดิฉันทำหน้าที่รายงานสู่สภาฯ แห่งนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณ ถ้าหากประชาชนที่ไม่เข้าใจหรืออยากทราบรายละเอียดสามารถตรวจสอบและติดต่อได้ที่สภาฯ ทุกวัน เชื่อว่าทุกท่านยินดีให้ความเข้าใจมากกว่าที่จะใช้การสื่อสารทางการเมือง มุ่งเน้นทำลายสภาฯ และความตั้งใจของ ส.ก. ที่จะให้เกิดผลประโยชน์โดยทั่วกัน
ด้านนายวิศณุ ชี้แจงว่าเครื่องมือดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือเตือนแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องมือที่ให้รู้ว่าเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว อาคารหลังนั้นจะแข็งแรงปลอดภัยพอหรือไม่ จึงเป็นเหตุผลว่าในโครงการดังกล่าวจะต้องจ้างที่ปรึกษา เครื่องมือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเราต้องจ้างที่ปรึกษา เพื่อไปวิเคราะห์โครงสร้างของอาคารหลังนั้น ๆ โดยเฉพาะ เมื่อแผ่นดินไหวแล้วจะได้ตอบว่า อาคารหลังนั้นจะต้องอพยพคนหรือไม่
จุดประสงค์หลักคือ ต้องการติดตั้งที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะอพยพคนหรือไม่ หรืออาคารรับแรงสั่นสะเทือนได้หรือไม่ ตนเองเข้าใจว่าอาจจะมีการสื่อสารหรืออธิบายได้ไม่ดีพอ หากครั้งหน้ามีการของบประมาณ จะได้ชี้แจงมากขึ้น
editor's pick
วิดิโอคลิปล่าสุด
รับข่าวสาร
สามารถฝากอีเมล์ เพื่อรับข่าวสารดีได้ที่นี่